พระอัจฉริยภาพ‘ในหลวง’ทรงออกแบบ-ต่อเรือใบ
พระอัจฉริยภาพ‘ในหลวง’ทรงออกแบบ-ต่อเรือใบพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการแข่งเรือใบ ทรงคว้าเหรียญทองกีฬาแหลมทอง เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2510 หนังสือ”พระมหากษัตริย์นักกีฬา” ที่การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2549 ระบุว่า พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยกีฬาเรือใบอย่างจริงจัง ด้วยทรงเห็นว่า การเล่นเรือใบเป็นกีฬากลางแจ้ง เล่นอยู่ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ และลมเย็นสบาย นอกจากนี้การเล่นเรือใบ จะต้องใช้ความสามารถของร่างกายทุกส่วน ตั้งแต่สมอง มือ แขน ขา ประสานงานกันอย่างดี จึงจะสามารถบังคับเรือให้แล่นไปได้ในทิศทางที่ต้องการ ประกอบกับมีคนใกล้ชิดเคยกราบบังคมทูลว่า”คนที่จะเล่นกีฬาเรือใบได้ดี จะต้องต่อเรือขึ้นมาเอง เพื่อที่จะได้รู้จักเรือที่เล่นได้ทะลุปรุโปร่ง เปรียบประดุจรู้จักหลังมือของตนเอง ฉะนั้นเมื่อแล่นเรือไปในทะเล ผู้เล่นจะเกิดความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเรือของตน สามารถบังคับเรือให้แล่นผ่านคลื่นลมไปได้ตลอดรอดฝั่ง” หม่อมเจ้ารัชนี ทรงนิพนธ์ในหนังสือ”ชีวิตสั้นๆ”ต่อไปว่า”วันหนึ่งมีรับสั่งให้ผู้เขียนเข้าเฝ้าฯ ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และรับสั่งว่าทรงนึกถึงเรือที่ใบสีแดงๆ มีพระราชประสงค์จะต่อด้วยพระหัตถ์ เพราะสมัยทรงพระเยาว์ที่โรงเรียนก็เคยทรงช่างไม้ ในเมื่อผู้เขียนต่อเรือเป็น จึงรับสั่งให้เข้ามาดำเนินการ เป็นโครงการร่วม Joint project….” ทรงต่อเรือใบได้อย่างถูกต้องตามหลักสากล โดยทรงศึกษาแบบแปลนข้อบังคับของเรือแต่ละประเภทจากตำราต่างๆทั่วโลก จนรู้จริง และทรงประดิษฐ์ด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ชนิดที่เรียกว่าวัดเป็นมิลลิเมตร เรือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงต่อขึ้น จึงเป็นเรือที่สมบูรณ์แบบ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงต่อเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรซ์ 2 ลำ โดยลำแรกพระราชทานชื่อว่า”ราชปะแตน” และได้รับหมายเลขที่จะแสดงบนเรือใบ E 11111 จากสมาคมเรือประเภทเอ็นเตอร์ไพรซ์ เป็นพิเศษ ลำที่สอง ชื่อ”เอจี” หลังจากทรงเรือเอ็นเตอร์ไพรซ์ไปได้สักระยะหนึ่ง ต่อมาในปี พุทธศักราช 2508 พระองค์เปลี่ยนพระทัยมาแล่นเรือใบประเภทโอเค ทรงต่อเรือใบประเภทโอเคที่เล่นคนเดียว ลำไม่ใหญ่เกินไปที่คนเล่นน้ำหนักขนาดคนไทยไม่เสียเปรียบ จึงทรงเป็นทั้งกัปตัน และลูกเรือพร้อมกันไป เรือโอเค ลำแรกที่ทรงต่อ พระราชทานชื่อว่า”นวฤกษ์” เลขหมาย TH 9 อยู่บนใบสีแดง หลังจากต่อเรือ”นวฤกษ์” ทรงต่อเรือโอเคขึ้นอีกหลายลำ และพระราชทานชื่อว่า”เวคา” (Vega) อันหมายถึงดาวที่สว่างสุกใสดวงหนึ่ง เช่น”เวคา 1, เวคา 2, เวคา 3″ โดยเรือเวคา 1 ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯโปรดมาก จึงขอพระราชทาน ส่วนเรือ”เวคา 2″ ซึ่งใช้เลขหมาย TH 27 เป็นลำที่ทรงใช้แข่งขันในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ 4 และทรงชนะเลิศหได้เหรียญทอง มาสู่ประเทศไทยในปี พ.ศ.2510 เรือประเภทนี้ต้องมีความยาวของตัวเรือ ไม่เเกิน 11 ฟุต มีใบเดียวเนื้อที่ไม่เกิน 75 ตารางฟุต โดยไม่จำกัดความกว้างของเรือ เรือใบมด มีขนาดตัวเรือยาว 11 ฟุต กว้าง 4 ฟุต 7 นิ้ว เสาเดียว เนื้อที่ใบ 72 ตารางฟุต เป็นเรือใบขนาดเล็ก เหมาะกับคนไทย น้ำหนักเบาในการเคลื่อนย้าย เก็บรักษาง่าย มีคุณสมบัติว่องไว แล่นได้เร็ว และมีราคาถูก ข้อดีต่างๆนี้ทำให้เรือใบมดที่ทรงออกแบบได้มาตรฐาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจดลิขสิทธิ์เป็นสากล ประเภท International Moth Class ที่ประเทศอังกฤษ |